ประวัติวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าโดยสังเขป

ประวัติวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (วพม.) เป็นสถาบันผลิตแพทย์ทหารแห่งเดียวของกองทัพ เป็นหน่วยขึ้นตรงของศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๘ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระกระแสพระบรมราชาโชวาทในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี ณ หอประชุมราชแพทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๖ ถึงความสำคัญของแพทย์ทหารและความจำเป็นที่ทางราชการทหารจะต้องจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นเองจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า ๔๒ ปี แล้วที่ วพม. ได้ผลิตบัณฑิตแพทย์ที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่กองทัพละประเทศชาติ ผลผลิตของ วพม. ได้ปฏิบัติหน้าที่และผลงานต่างๆ ไว้มากมายทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เป็นประโยชน์และนำมาซึ่งชื่อเสียงแก่กองทัพและประเทศชาติโดยเฉพาะจุดยืนที่โดดเด่นในความเป็นแพทย์ที่เข้มแข็ง มีระเบียบวินัย สามารถปฏิบัติงานได้ทั้งในยามปกติและในยามสงคราม ทำให้ได้รับการนับถือจากบุคคลทั่วไป ภายใต้การนำของผู้บังคับบัญชาและความมุ่งมั่นของบุคลากรทุกระดับที่มีความพร้อมในทุกด้านเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศทางด้านการศึกษา การวิจัย การบริการ วิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของสถาบัน

          อัตลักษณ์ของผู้สำเร็จการศึกษาจาก วพม. คือ บัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ ใฝ่รู้เพียบพร้อมในคุณธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย คุณลักษณะทหารและภาวะผู้นำที่ดี ปฏิบัติภารกิจได้ในทุกสถานการณ์ เมื่อจบการศึกษานักเรียนแพทย์ทหารที่เป็นนักเรียนทุนกองทัพบกจะได้รับการบรรจุเป็นผู้บังคับหมวดเสนารักษ์ในกองทัพต่างๆ และสามารถออกปฏิบัติงานในสนามได้เมื่อเกิดเหตุความไม่สงบหรือภัยพิบัติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกองทัพจะเป็นผู้เลือกใช้บัณฑิตเหล่านี้ให้สอดคล้องกับความต้องการของกองทัพ ซึ่งที่ผ่านมาบัณฑิตแพทย์ที่จบจาก วพม. ได้มีส่วนร่วมทำงานกับองค์กรสหประชาชาติในภารกิจบูรณะฟื้นฟูประเทศอัฟกานิสถาน และภารกิจให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติในประเทศที่มีความขัดแย้ง เช่น ประเทศติมอร์ อิรัก และบุรุนดี รวมทั้งภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการ ซึ่งได้รับคำชมเชยอยู่เสมอ สำหรับผู้ที่เป็นนักศึกษาแพทย์ตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะส่งมอบให้สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดสรรต่อไป โดยบัณฑิตแพทย์เหล่านี้เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับแพทย์ที่บรรจุในกองทัพสามารถ เป็นกำลังสำรองทางการแพทย์ให้กับกองทัพได้ในอนาคต จนถึงปัจจุบัน วพม. ได้ผลิตบัณฑิตแพทย์มาแล้วจำนวน ๓๗ รุ่น จำนวน ๑,๘๖๙ นาย จัดสรรให้กองทัพบก ๑,๐๗๖ นาย กองทัพเรือ ๒๓๘ นาย กองทัพอากาศ ๒๐๔ นาย และกองบัญชาการกองทัพไทย ๔๓ นาย และสังกัดอื่น ๆ ๓๐๘ นาย